สถาบันสันติศึกษาขอแนะนำหนังสือ “การใช้สันติวิธีกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง” เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทั้งด้านการพัฒนาสังคม การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการด้านต่างๆ ซึ่งเป็นประเภทตำราประกอบการเรียนการสอน และเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐาน ทั้งด้านแนวคิด ทฤษฎี และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสันติวิธีและความขัดแย้งในสังคมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนนำเสนอเนื้อหาไว้ 5 บท ด้วยกัน ได้แก่
บทที่ 1 บทนำ ว่าด้วยเรื่องความหมายของ สันติวิธี สันติภาพ สันติภาพเชิงลบสันติภาพเชิงบวก รายละเอียดของ วัฒนธรรมสันติและสันติวัฒนธรรม และอธิบายถึงความหมายของความขัดแย้งที่แตกต่างหลากหลายของนักวิชาการท่านต่างๆ
บทที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับสันติวิธีและความขัดแย้ง ผู้เขียนได้รวบรวมความเป็นมาของแนวคิด ทฤษฎี ของนักวิชาการด้านสันติวิธีและความขัดแย้งที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับ ทั้งที่เป็นของชาวต่างประเทศและชาวไทย เช่น ทฤษฎีความขัดแย้งของ คาร์ล มารกซ์ แนวคิด “อหิงสา”ของ มหาตมะ คานธี ทฤษฎีความขัดแย้งของ โยฮัน เกาล์ตุง หลักคิดการปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของ ยีน ชาร์ป รวมถึงแนวคิดสันติวิธีและความขัดแย้งของนักวิชาการไทยคนสำคัญ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ พระไพศาล วิสาโล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เศรษฐมาลี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นต้น
บทที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของความขัดแย้งและสันติภาพในประเทศไทย ในบทนี้ผู้เขียนได้รวบรวมและอธิบายรายละเอียดของสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย ทั้งสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาในประเด็นสำคัญๆที่เกิดขึ้น ได้แก่ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งจากโครงการขนาดใหญ่ และความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับนำเสนอกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ในบางประเด็นด้วย
บทที่ 4 ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพในต่างประเทศ ผู้เขียนได้นำเสนอตัวอย่างสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ 9 ประเทศด้วยกันได้แก่ ไอร์แลนด์เหนือ รวันดา อิสราเอล แคชเมียร์(อินเดีย) ศรีลังกา เนปาล เมียนมาร์ มินดาเนา(ฟิลิปปินส์) และอาเจะห์ (อินโดนีเซีย) โดยอธิบายสถานการณ์ ปัญหา สาเหตุของปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นและการจัดความขัดแย้งโดยสันติวิธีหรือกระบวนการสันติภาพของประเทศดังกล่าว และ จบด้วย
บทที่ 5 ซึ่งเป็นบทสรุป ผู้เขียนได้อธิบายเชิงสรุปของเนื้อหาที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ ความหมาย แนวคิด ทฤษฎีสันติวิธีและความขัดแย้ง ประมวลความขัดแย้งในประเด็นต่างๆของประเทศไทยให้เห็นคู่ขัดแย้งหลัก สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนวทางการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี สำหรับเนื้อหากรณีของต่างประเทศก็จะสรุปให้ผู้อ่านเห็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและบทเรียนสำคัญที่จะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ตั้งแต่การป้องกัน การจัดการ และการเยียวยา เพื่อนำไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืนได้ และเพิ่มเติมด้วย ภาคผนวก จะเป็นกรณีศึกษาความขัดแย้งและการจัดการ การประมงทะเลสาบสงขลาและเหมืองหินเขาคูหา เป็นการนำเสนองานวิจัยที่ผู้เขียนนำไปปรับปรุง และสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น ตลอดจนการวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงการเพิ่มการเรียนรู้ของผู้อ่านทุกท่าน
สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ คลิก